เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 25 พฤษภาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ วัดท่าขนุนของเราเริ่มเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประจำปี ๒๕๖๗ แล้วปีนี้ก็จะมีพระจากวัดอื่นมาขอเรียนด้วย เนื่องจากว่าผลงานในปีที่ผ่านมาของสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีวัดท่าขนุน ต้องบอกว่าสวยงามมาก ก็คือส่ง ๘ รูป สอบผ่าน ๗ รูป ความจริงรูปที่ ๘ ก็น่าจะผ่าน เพียงแต่ไปทำผิดกติกาของเขาเท่านั้นเอง..!

    แต่คราวนี้ท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่าผลงานที่ออกมาสวยหรูนั้น ถ้าสายตาของกระผม/อาตมภาพ ยกให้เป็นความดีของมหาจอม (พระมหาภูมินทร์ ฐิตญาโณ ป.ธ. ๗) กับมหาโอ๊ต (พระมหาสราวุธ ปญฺญาวุฑฺโฒ ป.ธ. ๓) ไป ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วอย่าเพิ่งคิดว่าเป็นความสามารถของครูบาอาจารย์วัดท่าขนุนในส่วนที่เหลือ เพราะว่าส่วนที่เหลือ
    กระผม/อาตมภาพยังยกให้เป็นผลผลิต ก็คือนักเรียนของเราอีก ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ถ้านักเรียนไม่ดี ไม่ขยัน โอกาสที่จะรอดยากมาก แล้วคราวนี้เหลือให้ครูของเรากี่เปอร์เซ็นต์ ?

    จึงเป็นเรื่องที่พวกเราทั้งหลายต้องพยายามหาทางปรับปรุง โดยเฉพาะการแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ในการสอน อย่างเช่นว่า อาจจะพูดเร็วไปบ้าง และในส่วนที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ เราต้องมีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่า นักเรียนของเรายังไม่รู้เรื่องนี้

    ตอนที่เรายังไม่รู้เรื่องนี้ เราต้องการให้ครูสอนอย่างไร ? ไม่อย่างนั้นแล้วบรรดาครูบาอาจารย์ที่จบเปรียญธรรมประโยคสูง ๆ มา ส่วนหนึ่งสอนใครไม่ได้ เพราะว่าไปสอนแบบที่ตัวเองรู้และเข้าใจ ซึ่งนักเรียนที่ยังไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีทางที่จะทำความเข้าใจตามไปได้เลย ดังนั้น..ต้องตระหนักให้ได้ว่า ถ้าหากว่าเราเป็นนักเรียนผู้มาใหม่ เราควรที่จะรู้เรื่องอะไรบ้าง ? แล้วก็ว่าไล่สอนไปตามลำดับ

    เรื่องพวกนี้เป็นประสบการณ์ในการสอนที่เราจะค่อย ๆ สั่งสมไปเรื่อย ท่านที่มีแนวโน้มทางด้านนี้ ก็จะสามารถทำได้ดีเอง อย่างของวัดเราช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีพระมหาเอกชัย สุทฺธิธมฺโม ป.ธ. ๓ ไปขอเรียนปริญญาตรีสาขาครุศาสตร์ นั่นก็คือเรียนความเป็นครู มาวันนี้ ก็มีท่านปู (พระพงษ์สิทธิ์ สนฺตจิตฺโต) มาขอไปเรียนปริญญาโทสาขาครุศาสตร์ นั่นก็คือเรียนเพื่อเป็นครู
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    โดยเฉพาะครุศาสตร์ เป็นศาสตร์แห่งความเป็นครู ที่ไม่มีครูคนไหนจะเก่งไปกว่าพระพุทธเจ้าอีกแล้ว..! เราที่เป็นพระภิกษุสามเณรจึงควรที่จะตระหนักตรงนี้ว่า องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถนำเอาหลักธรรมที่ในยุคนั้นไม่มีใครรู้เลย ไปเผยแผ่ให้พวกเขารู้ได้ จะต้องทำอย่างไร ?

    อย่างที่บาลีเขาสรุปเอาไว้ว่าสันทัสสนา ต้องชัดเจนแจ่มแจ้ง ก็คืออธิบายได้ละเอียดลึกซึ้ง สมาทปนา จูงใจ อยากให้ติดตาม อยากให้ศึกษา สมุตเตชนา กระตุ้นให้เกิดความแกล้วกล้า พร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อการศึกษานั้นได้ และสัมปหังสนา ต้องมีความรื่นเริงด้วย

    ครูบาอาจารย์บางท่านสอนแล้วลูกศิษย์ติดเกรียวเลย เพราะว่าสอนสนุก บางทีก็หัวเราะกันทั้งชั่วโมง แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว นั่นเป็นพรสวรรค์เฉพาะตัว เราจะเลียนแบบและทำตามก็ได้ แต่ต้องศึกษาเทคนิคและวิธีการอีกมาก

    หลังจากทำพิธีปฐมนิเทศเสร็จสรรพเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็ไปสนทนากับหลวงพ่อวรพงศ์ ปภสฺสโร (พระครูปลัดวรเมธาวัฒน์) เจ้าอาวาสวัดโนนสำราญ ตำบลห้วยหิน อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นคนเก่าคนแก่ลูกศิษย์หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงเหมือนกัน ก่อนหน้านี้ท่านเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใต้ ที่ซอยอ่อนนุช ซึ่งกระผม/อาตมภาพอยู่แถวนั้นมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นวัดมหาบุศย์ วัดใต้ หรือวัดปากบ่อ ไล่ไปเรื่อยจนกระทั่งถึงวัดยาง (หลวงพ่อโต) วัดขอม (วัดขจรศิริ)

    หลวงพ่อวรพงษ์ท่านมาถามปัญหา ซึ่งท่านบอกว่าถามใครก็ตอบท่านไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ไม่รู้วิธีการก็คือหวงวิชา ท่านถามว่ากระผม/อาตมภาพ "มีเคล็ดลับในการพุทธาภิเษกอย่างไร ถึงเสกของได้ขลังมาก ?" กระผม/อาตมภาพก็กราบเรียนท่านไปว่า ถ้าสายหลวงพ่อฤๅษีฯ จริง ๆ แล้ว ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย นอกจากกราบขอบารมีพระท่านสงเคราะห์..!

    แต่คราวนี้การที่เราจะทำอย่างนั้นได้ อันดับแรก เราต้องยึดพุทธานุสติเป็นหลัก ก็คือกำหนดภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด หายใจเข้า..ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไปจนสุด หายใจออก..ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจออกมาจนสุด ไม่ต้องไปสนใจว่าพระพุทธรูปจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร สีสันแบบไหน ขอเพียงให้มั่นใจว่ามีพระพุทธรูปอยู่กับเราก็พอแล้ว
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    หลังจากนั้นเมื่อมีความคล่องตัว กำหนดนึกเมื่อไรก็สามารถนึกถึงพระพุทธรูปไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออกได้ ก็กำหนดให้ภาพพระพุทธรูปนั้น ค่อย ๆ ขยายใหญ่ขึ้น ลำดับแรกเลยก็ซ้อนกับตัวเรา หลังจากนั้นก็ใหญ่จนครอบเราไว้ทั้งตัว ใหญ่จนเต็มไปทั้งที่พัก ใหญ่จนเต็มไปทั้งวัด ใหญ่จนเต็มไปทั้งหมู่บ้าน ค่อย ๆ ขยายกว้างออกไป กว้างออกไปแบบนั้น เราจะรู้สึกเหมือนตัวเราสูงขึ้น..ใหญ่ขึ้น สูงขึ้น..ใหญ่ขึ้น ตลอดเวลา ซักซ้อมให้คล่องตัว คิดเมื่อไรต้องได้ทันที

    ท่านทั้งหลายที่กระผม/อาตมภาพนำเจริญพระกรรมฐานในการปฏิบัติธรรมทุกครั้ง จะสงสัยว่าก็วิธีเดียวกันทุกอย่าง..ใช่ครับ วิธีเดียวกันทุกอย่าง เพียงแต่เวลาจะปลุกเสก เราอธิษฐานภาพพระนั้นให้ครอบลงบริเวณพิธีที่ตั้งวัตถุมงคลทั้งหมด

    คราวนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือต้องซักซ้อมบ่อย ๆ จนคล่องตัว ความรู้สึกเกิดขึ้นว่าให้กำหนดใจอย่างไร ต้องทำตามนั้น ให้ว่าคาถาบทใด ต้องว่าตามนั้น ถ้าหากว่าสามารถทำได้คล่องตัวขนาดนี้แล้ว ก็ซักซ้อมเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง ก็คือกำหนดเวลาไว้ อย่างเช่นว่า เจ้าภาพต้องการจนกระทั่งพระมหานาคเจริญพระพุทธมนต์พุทธาภิเษกจบ หรือว่าเจ้าภาพต้องการครึ่งชั่วโมง ต้องการ ๑ ชั่วโมง เราต้องกำหนดเข้าสมาธิได้ตามนั้น ถึงเวลาจิตเคลื่อนคลายออกมา จะตรงเวลาทุกอย่าง ที่กระผม/อาตมภาพทำแล้วบางคนแอบดู บอกว่า "เป๊ะมาก" ก็คือตรงเวลาทุกประการ


    ท่านพระครูปลัดฯ ทำท่าขนลุกขนพอง บอกว่าฟังดูแล้วเหมือนกับทำได้เลย
    กระผม/อาตมภาพบอกว่า "ใช่ครับ..เนื่องเพราะว่าถ้าเป็นสายหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงมา ทุกคนจะฝึกมโนมยิทธิมาอย่างช่ำชองแล้ว เราแค่ทำตามวิธีนี้เท่านั้น"

    ส่วนสำคัญที่สุดก็คือการซักซ้อมบ่อย ๆ แม้กระทั่งทุกวันนี้ กระผม/อาตมภาพก็ซักซ้อมอยู่เสมอ จากการฝึกในเบื้องต้น ที่เหมือนอย่างกับภาพมืด ๆ ดำ ๆ เหมือนกับการมองสิ่งของในความมืด ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่เราซักซ้อมแบบ "หัวไม่วางหางไม่เว้น"

    โดยเฉพาะในช่วงที่ฝึกใหม่ ๆ ประมาณปี ๒๕๒๑ กระผม/อาตมภาพเข้าไปซักซ้อมญาณ ๘ กับครูฝึกทุกครั้ง จนกระทั่งโดนไล่ออกจากวงมา ครูฝึกถามว่า "ตั้งใจมาลองของกันหรือไร ?" เนื่องเพราะว่าพอท่านเอ่ยคำแรก กระผม/อาตมภาพจะรู้แล้วว่า ทั้งประโยคจะถามว่าอะไร ก็ชิงตอบเสียก่อน ขณะที่คนอื่นทั้งวง ยังไม่รู้เลยว่าคำถามคืออะไร ทำให้การฝึกของคนอื่นเขาเสียหายหมด เมื่อโดนไล่ก็เดินหน้าเหี่ยวออกมา พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านหัวเราะ บอกว่า "คล่องตัวขนาดนั้น ไปเป็นครูเขาได้แล้วลูก"
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,540
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,538
    ค่าพลัง:
    +26,373
    ความจริงในตอนแรกไปเข้าใจว่า มโนมยิทธิเหมือนกับ "ตาเห็น" ก็คือมองกันแบบนี้ชัด ๆ เลย แต่ไม่ใช่ เพราะว่ามโนมยิทธิคือ "ใจเห็น" ทำอย่างไรที่เวลาเรานึกถึงผู้คน หรือสิ่งของที่เราคุ้นเคย แล้วรู้สึกได้ชัดเจนแบบนั้น เราจะรู้ว่านั่นไม่ใช่ตาเห็น สิ่งต่าง ๆ ของเราก็ต้องซักซ้อมให้ได้ขนาดนั้น


    กระผม/อาตมภาพซักซ้อมอยู่ ๑๐ กว่า ๒๐ ปี จนกระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง กำหนดจิตไปที่ต้นไม้ แล้วสามารถแยกได้ว่าใบอ่อนใบแก่ต่างกันอย่างไร ตอนนั้นรู้สึกดีใจมาก เพราะว่าถ้าสภาพจิตของเราละเอียดถึงระดับนั้น การรู้เห็นอื่น ๆ จะชัดเจนและพลาดได้ยาก แต่ก็ยังเพียรพยายามที่จะมานะฝึกซ้อมต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุด ภาพพระที่ส่วนใหญ่จะเป็นแสงสว่างเจิดจ้า ไม่สามารถจะแยกออกว่ารูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร ก็เริ่มชัดเจนขึ้นตามลำดับ

    จนกระทั่งอย่างทุกวันนี้ ที่เวลาพบอะไรมา ก็มานำเล่าถวายพวกท่านทั้งหลาย หรือว่าเล่าให้ญาติโยมได้ฟัง เฉพาะในส่วนที่เขาอนุญาต แต่ก็ยังมีการพลาดอยู่ดี อย่างวันก่อนที่เล่าเรื่องการฝึกบำเพ็ญบารมีของบรรดาสัตว์ต่าง ๆ ในภูมิเปติวิสัย ก็คืออชคราทิเปรต แล้วบอกว่าท่านฝึกเป็นพันปี ก็แค่ไม่กี่วันเท่านั้น เนื่องเพราะว่าเวลาโลกมนุษย์กับเวลาของภูมิเขาต่างกันมาก

    ปรากฏว่า "ท่านสุ่ยหลง" มาแก้ข่าว ท่านบอกมาหลายวันแล้ว ก็คือบอกตั้งแต่วันนั้นเลย แต่กระผม/อาตมภาพไม่มีเวลามาบอกกล่าวกับพวกเรา ก็คือระยะเวลาฝึกที่เป็นพันปีนั้น เป็นพันปีของเขา ไม่ใช่พันปีของเรา ถ้าเป็นพันปีของเรา แค่ไม่กี่วันของเขา ก็ดูจะง่ายเกินไป

    คาดว่าถ้าหากว่าหลวงพ่อวรพงศ์ท่านไปทำวิธีนี้ อีกไม่นานเราก็น่าจะมีพระเกจิอาจารย์ที่สามารถเสกของได้ขลังอีกหนึ่งท่านขึ้นมาในยุทธจักรของเรา เนื่องเพราะว่าท่านอายุกาลพรรษามากกว่า แต่ยังอุตส่าห์ลดตัวลงมาสอบถาม แล้วนิสัยของกระผม/อาตมภาพก็คือ
    คนรู้และทำได้มากเท่าไร กระผม/อาตมภาพก็เหนื่อยน้อยลงเท่านั้น ครูบาอาจารย์สอนมา ท่านก็ไม่เคยปิดบังความรู้ กระผม/อาตมภาพก็ไม่ปิดบังความรู้เช่นกัน เพราะว่าถ้าปุบปับเป็นอะไรไป บางทีเรื่องที่รู้ก็จะตายกับตัวเองไปเลย..!

    เพียงแต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ได้เตือนท่านไปก็คือว่า เวลาฟังคำสอนครูบาอาจารย์ อย่าฟังเป็นคำสอน แต่ให้ฟังเป็นคำสั่ง ว่าครูบาอาจารย์สั่งให้เราทำแบบนี้ ถ้าเราฟังคำสอนเป็นคำสอน ก็คือจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ แต่ถ้าฟังเป็นคำสั่ง ก็คือต้องทำ..!

    ดังนั้น..การวางกำลังใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรม วางกำลังใจผิด ความขยันขันแข็งพากเพียรก็มีน้อย ความก้าวหน้าก็น้อยตามไปด้วย ถ้ามีวาระอกุศลกรรมเข้ามาแทรก ก็อาจจะถึงขนาดสึกหาลาเพศไปเลย เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ท่านเองก็บอกไว้ว่า "ถ้ามีโอกาสจะมาขอความรู้ด้านอื่นเพิ่มเติมอีก"

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...